กำเนิดและวิวัฒนาการของเครื่องจักสาน

   มนุษย์คิดทำเครื่องจักสานมาตั้งแต่สมัยใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่นอน แต่ได้พบร่องรอยของเครื่องจักสานบนเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักฐานยืนยันว่า มนุษย์อาจจะสามารถทำเครื่องจักสานได้ก่อนสมัยก่อนประวัติศาสตร์และยังทำต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์ดังปรากฏรอยภาชนะจักสานบนผิวภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่ง จากแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์บ้านเชียงอำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี เป็นภาชนะเล็กๆ ปากกลมก้นสี่เหลี่ยม (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร กรุงเทพมหานคร)และภาชนะดินเผาทรงกระบอกเล็กๆ อีกชิ้นหนึ่งจากแหล่งโบราณคดีในจังหวัดลพบุรี (ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสมเด็จพระนารายณ์จังหวัดลพบุรี) ภาชนะดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตร์ทั้งสองชิ้นดังกล่าว มีรอยของภาชนะจักสานลายขัดปรากฏบนผิวด้านนอกของภาชนะดินเผา จึงสันนิษฐานว่า ทำขึ้นโดยใช้ดินเหนียวยาไล้ลงไปในภาชนะจักสาน เมื่อดินแข็งและแห้งแล้วจึงนำไปเผาไฟ ไฟจะไหม้ภาชนะจักสานซึ่งเป็นแม่แบบหมด เหลือดินเผาที่มีรูปร่างเช่นเดียวกับภาชนะจักสานซึ่งเป็นแม่แบบ จึงปรากฏรอยสานที่ผิวด้านนอกตามลวดลายต้นแบบ ภาชนะเครื่องปั้นดินเผาสมัยก่อนประวัติศาสตรดังกล่าวเป็นหลักฐานสำคัญที่อาจสันนิษฐานได้ว่า มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทยรู้จักทำเครื่องจักสานมาก่อนการทำเครื่องปั้นดินเผา และการทำเครื่องปั้นดินเผายุคแรก อาจจะทำโดยการใช้ดินเหนียวยาไล้ลงในแม่แบบ (pressing mould)ทิ้งไว้ให้ดินแห้งแล้วจึงนำไปเผา ซึ่งเป็นกรรมวิธีการทำเครื่องปั้นดินเผายุคเริ่มแรก ก่อนที่จะทำเครื่องปั้นดินเผาด้วยการตีด้วยไม้และหินดุ และการปั้นโดยใช้แป้นหมุนในยุคต่อมา
           สิ่งที่ใช้เป็นแม่แบบ (mould) ในการทำเครื่องปั้นดินเผาครั้งแรกๆ อาจจะเป็นแปลือกผลไม้เช่น เปลือกน้ำเต้าหรือเปลือกผลไม้ชนิดอื่น ก่อนที่จะใช้ภาชนะจักสานเป็นแม่แบบ แต่การทำภาชนะดินเผาที่ทำขึ้นด้วยวิธีนี้ จะมีรูปทรงจำกัดตามสิ่งที่นำมาเป็นแม่แบบเท่านั้น ร่องรอยของเครื่องจักสานที่ปรากฏบนผิวภาชนะดินเผานั้นอาจสันนิษฐานได้ว่า การทำเครื่องจักสานของมนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย ใช้วัตถุดิบที่แปรรูปด้วยเครื่องโลหะ เช่น มีด พร้า จักหรือเหลาวัตถุดิบให้เป็น เส้น ตอก มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะใช้ทำเครื่องจักสานแต่ละชนิด อาจนำหวายหรือไม้ไผ่มาจักเป็นเส้นก่อนที่จะนำมาสานเป็นภาชนะ แทนที่จะใช้ใบไม้เถาวัลย์ มาสานเป็นภาชนะโดยตรง เพราะร่องรอยของเครื่องจักสานที่ปรากฏบนภาชนะดินเผานั้นแสดงว่า เป็นภาชนะจักสานที่สานด้วยตอกที่จักเป็นเส้นอย่างที่ใช้สานเครื่องจักสานในปัจจุบัน
           การแปรรูปวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องจักสานเป็นพัฒนาการสำคัญในการทำเครื่องจักสานเพราะการใช้วัสดุที่เป็นเส้นเล็ก เช่น ตอก หวาย ย่านลิเภา ทำให้มนุษย์สามารถประดิษฐ์เครื่องจักสานให้มีรูปทรงตามต้องการ และมีความประณีตงดงามยิ่งขึ้น
           การทำเครื่องจักสานบางชนิดในบางท้องถิ่นช่างจักสานจะสานภาชนะหรือใช้ไม้ทำเป็นแบบให้มีรูปทรงตามความต้องการก่อน แล้วจึงสานทับแม่แบบอีกทีหนึ่ง เพื่อให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปร่างและขนาดที่เหมือนๆ กันเป็นจำนวนมากเช่น การสานกระบุงบางท้องถิ่นในจังหวัดแพร่ช่างจักสานจะสานกระบุงแม่แบบหรือต้นแบบก่อนแล้วจึงสานกระบุงที่ต้องการตามแม่แบบที่สานไว้หรือการสานหมวกหรือกุบในภาคเหนือ ซึ่งช่างจักสานมักใช้ไม้กลึงเป็นรูปหมวกมาเป็นแม่แบบแล้วสานโครงหมวกตามแม่แบบที่เป็นไม้นั้น จากนั้นจึงบุด้วยใบลานหรือใบตาลอีกชั้นหนึ่ง วิธีนี้จะทำให้ได้หมวกที่มีรูปร่างเหมือนกันและมีขนาดเท่าๆ กัน นอกจากนี้ก็มีการสานครุหรือแอ่วสำหรับตีข้าวของภาคเหนือ ซึ่งเป็นเครื่องจักสานขนาดใหญ่ที่ใช้ตอกขนาดใหญ่ ช่างจักสานจึงต้องขุดดินเป็นหลุมเป็นแม่แบบ แล้วลงไปสานในหลุมที่เป็นแม่แบบนั้น โดยมีหลุมดินเป็นแม่แบบบังคับให้เครื่องจักสานมีรูปทรงตามต้องการ การสานเครื่องจักสานโดยใช้แม่แบบนี้ ช่วยให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปร่างเหมือนๆ กันเป็นจำนวนมากหรือใช้สานเครื่องจักสานที่มีรูปทรงแปลกๆ จึงต้องใช้แม่แบบ เช่น การสานแจกัน การสานเป็นรูปสัตว์ในประเทศจีน ซึ่งใช้ตอกสานหุ้มทับแจกันดินเผาหรือเครื่องปั้นดินเผารูปสัตว์ ทำให้ได้เครื่องจักสานที่มีรูปทรงตามแม่แบบนั้นๆ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น